ความผิดปกติของคุณภาพน้ำอสุจิและการรักษา

 

ความผิดปกติของคุณภาพน้ำอสุจิและการรักษา! มีบุตรยาก

ภาวะมีบุตรยาก (Infertility) คือ การที่คู่ชาย-หญิงไม่สามารถมีบุตรได้ หลังจากมีเพศสัมพันธ์กันอย่างสม่ำเสมอและไม่คุมกำเนิดเป็นระยะเวลา 1 ปี โดยสาเหตุสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง
สำหรับภาวะมีบุตรยากในเพศชาย (Male Infertility) หมายถึง ฝ่ายชายนั้นไม่สามารถทำให้คู่ครองตั้งครรภ์ได้ โดยกว่า 40 % ของภาวะมีบุตรยาก พบว่าสาเหตุเกิดจากฝ่ายชาย โดยส่วนใหญ่นั้นเกิดจากคุณภาพของน้ำอสุจิที่ผิดปกติ (Semen Abnormality) ซึ่งพบได้ร้อยละ 85 ของสาเหตุที่เกิดจากฝ่ายชาย โดยอวัยวะสำคัญที่มีผลต่อการเจริญพันธุ์ของผู้ชายคืออัณฑะ ซึ่งมีหน้าที่สร้างฮอร์โมนเพศชาย และสร้างเซลล์สืบพันธุ์ซึ่งก็คือตัวอสุจิ การทำงานของอัณฑะอยู่ภายใต้การควบคุมของต่อมใต้สมองเช่นเดียวกับรังไข่ของฝ่ายหญิง
🔹ภาวะสภาพของอสุจิด้านต่างๆ มีดังนี้
• Normozoospermia: อสุจิที่ปกติ
• Oligozoospermia: มีจำนวนตัวอสุจิน้อยกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้
• Asthenozoospermia: มีจำนวนตัวอสุจิที่มีการเคลื่อนไหวปกติน้อยกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้
• Teratozoospermia: มีจำนวนตัวอสุจิที่มีรูปร่างลักษณะปกติน้อยกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้
• Azoospermia : ตรวจไม่พบตัวอสุจิในน้ำอสุจิ
• Parvisemia : ปริมาณน้ำอสุจิน้อยกว่า 2 มิลลิลิตร
• Aspermia : ไม่มีการหลั่งน้ำอสุจิเลย
ความผิดปกติของน้ำอสุจิดังกล่าว สาเหตุส่วนใหญ่ยังไม่ทราบแน่ชัด อาจเกิดได้จาก ความผิดปกติของอัณฑะ การติดเชื้อของระบบสืบพันธุ์ พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ความเครียด น้ำหนักเกินมาตรฐาน การออกกำลังกายมากเกินไป ปัญหาเกี่ยวกับเรื่องทางเพศ เช่น การหย่อนสมรรถภาพทางเพศ และการหลั่งเร็ว รวมไปถึงการดื่มสุรา สูบบุหรี่และใช้ยาเสพติด หรือยาปฏิชีวนะบางประเภทก็มีผลต่อคุณภาพของอสุจิได้
การรักษาโดยการเพิ่มคุณภาพอสุจิสามารถทำได้ด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เน้นโปรตีนที่ดี เช่น เนื้อปลา ถั่ว เน้นอาหารที่เสริมสารต้านอนุมูลอิสระ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและพอเหมาะไม่หักโหมจนเกินไป นอนหลับอย่างมีคุณภาพคือ นอนไม่ดึก (ก่อน 22.00 น.) เป็นเวลาอย่างน้อย 7-8 ชั่วโมง งดการดื่มสุราการสูบบุหรี่ และการใช้สารเสพติดจะช่วยให้อสุจิมีคุณภาพที่ดีขึ้น
ซึ่งหากวิธีดังกล่าวไม่ได้ผล สามารถนำเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์มาช่วยเรื่องการมีบุตร ได้แก่
• การทำเด็กหลอดแก้ว (IVF/ICSI)
• การเจาะดูดอสุจิออกจากอัณฑะโดยตรง (PESA, TESE, MESA) เป็นการนำตัวอสุจิออกจากอัณฑะหรือท่อนำอสุจิในกรณีที่ฝ่ายชายไม่มีตัวอสุจิในน้ำอสุจิ เพื่อไปคัดหาตัวอสุจิ แล้วนำไปผสมกับเซลล์ไข่ด้วยวิธีอิ๊กซี่ (ICSI)
อุไรวรรณ จำเริญไกร
นักวิทยาศาสตร์เพาะเลี้ยงตัวอ่อน

Reference: Prime Fertility Center Co., Ltd.

สนใจบริการทำเด็กหลอดแก้ว : www.primefertilitycenter.com/package-promotion/icsi-fulfill-family-package-2/

ICSI การทำอิ๊กซี่ การทำอิ๊กซี่ หรือ Intracytoplasmic sperminjection (ICSI) เป็นการปฏิสนธินอกร่างกายที่ใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยในห้องปฏิบัติการ ซึ่งขั้นตอนคล้ายกับการทำเด็กหลอดแก้วหรือ IVF แต่การทำอิ๊กซี่จะมีความแตกต่างคือ อิ๊กซี่เป็นการนำเอาอสุจิที่ผ่านการคัดเลือกที่ดีที่สุดหนึ่งตัวผสมต่อไข่ที่อยู่ในระยะที่เหมาะสมในการปฏิสนธิหนึ่งใบ โดยการใส่อสุจิเข้าไปในเนื้อไข่โดยตรง กระบวนการนี้จะต้องมีการกระตุ้นไข่ด้วยยาฮอร์โมนเพื่อให้ได้ไข่จำนวนหลายใบ และยังให้ผลการปฏิสนธิเป็นที่น่าพึงพอใจ ช่วยลดปัญหาการปฏิสนธิหรือการปฏิสนธิแบบผิดปกติอันเนื่องมาจากไข่และอสุจิ เช่น การเกิดการผสมด้วยอสุจิหลายตัว, อสุจิไม่สามารถเจาะผ่านเปลือกไข่เพื่อเข้ามาปฏิสนธิได้ เป็นต้น หลังจากนั้นตัวอ่อนจะถูกนำไปเพาะเลี้ยงในภาวะที่เหมาะสมในห้องปฏิบัติการตัวอ่อน แล้วจึงนำตัวอ่อนฉีดกลับเข้าสู่โพรงมดลูกเพื่อให้ตัวอ่อนฝังตัวที่มดลูกและเจริญเติบโตเป็นทารกต่อไป

คู่สมรสที่ควรรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยวิธีการทำ ICSI
1. ฝ่ายหญิงมีอายุค่อนข้างมาก (มากกว่า 35 ปี)
2. ฝ่ายหญิงมีภาวะท่อนำไข่ตีบตันทั้งสองข้าง
3. ฝ่ายหญิงมีภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ค่อนข้างรุนแรง
4. ฝ่ายหญิงมีการทำงานของฮอร์โมนรังไข่ผิดปกติ เช่น ภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง หรือโรคถุงน้ำรังไข่ (PCOS)
5. ฝ่ายชายมีอสุจิผิดปกติรุนแรง ทั้งทางด้านรูปร่าง ความสามารถในการเคลื่อนที่ รวมถึงจำนวนของอสุจิด้วย
6. ฝ่ายชายที่เป็นหมันหรือทำหมัน แต่ยังคงมีการสร้างอสุจิและสามารถนำอสุจิออกมาได้จาก วิธีการผ่าตัด เช่น การทำ PESA, TESA, TESE เป็นต้น
7. คู่สามีภรรยาที่เคยไม่ประสบความสำเร็จในการปฏิสนธินอกร่างกายด้วยวิธี IVF
8. คู่สามีภรรยาที่ต้องการตรวจคัดกรองโรคทางพันธุกรรมด้วยของตัวอ่อน

FET การย้ายตัวอ่อนแช่แข็ง
การย้ายตัวอ่อนแช่แข็ง หรือ FET (FROZEN EMBRYO TRANSFER) คือการนำเอาตัวอ่อนที่ถูกแช่แข็งไว้มาผ่านกระบวนการละลาย (THAWING) และย้ายเข้าสู่โพรงมดลูก ซึ่งในกรณีนี้คนไข้สามารถเลือกช่วงเวลาที่ตนเองสะดวกได้ เช่น 1-2 เดือนหลังจากกระบวนการปฏิสนธิ การย้ายตัวอ่อนรอบแช่แข็งในสตรีที่มีอายุมากกว่า 35 ปีจะให้ผลดีกว่าการย้ายตัวอ่อนในรอบสด

เนื่องจากในกรณีที่ฝ่ายหญิงกระตุ้นไข่ได้หลายใบจะทำให้มีฮอร์โมนผลิตออกมาจากรังไข่ปริมาณมาก ซึ่งฮอร์โมนนี้จะส่งผลทำให้คุณภาพของเยื่อบุโพรงมดลูกด้อยลง และทำให้โอกาสการฝังตัวของตัวอ่อนลดลงแม้ตัวอ่อนจะมีคุณภาพดีก็ตาม ดังนั้นการใส่ตัวอ่อนตามหลังการเก็บไข่เลยอาจไม่เหมาะสมนักในกรณีนี้

นอกจากนั้นผลการศึกษาจากหลายสถาบันก็มีแนวโน้มว่าการใส่ตัวอ่อนในรอบแช่แข็งและละลายจะให้โอกาสการตั้งครรภ์ที่สูงกว่าใส่หลังเก็บไข่เลย ด้วยเรื่องของคุณภาพเยื่อบุโพรงมดลูกที่พร้อมมากกว่าดังนั้นการเลือกย้ายตัวอ่อนในรอบใดนั้นแพทย์จะพิจารณาให้เหมาะสมกับคู่สมรสเป็นราย ๆ ไป

ทำ ICSI ราคา มีบุตรยาก  ตรวจอสุจิ

Related Posts