Q&A กับหมอพูนเกียรติ : ข้อดีของตัวอ่อนระยะบลาสโตซิสต์

ตัวอ่อนระยะบลาสโตซิสต์ (Blastocyst) เป็นตัวอ่อนที่เกิดจากการปฏิสนธิของไข่และอสุจิซึ่งเลี้ยงให้เติบโตในห้องปฏิบัติการมาได้อายุ 5-6 วัน จะมีเซลล์จำนวน 80-120 เซลล์ ตัวอ่อนระยะบลาสโตซิสต์จะมีเซลล์ต้นกำเนิดและเซลล์รกที่พร้อมฝังตัวสู่โพรงมดลูก จึงเรียกได้ว่าเป็นระยะพร้อมฝังตัว

ตัวอ่อนระยะบลาสโตซิสต์ถือว่าเติบโตได้ดีในระดับหนึ่ง ซึ่งเราก็จะวิธีการแบ่งเกรดตัวอ่อนออกเป็น A B C เพราะไม่ใช่ว่าตัวอ่อนระยะนี้จะเป็นตัวอ่อนที่ดีหมดทุกตัวนะครับ ต้องมีการคัดเลือกอีกครั้งก่อนย้ายกลับสู่โพรงมดลูก

โดยทั่วไปการเลี้ยงตัวอ่อนนี้จึงเป็นเหมือนการคัดกรองตัวอ่อนในระดับหนึ่ง เพราะปัจจุบันเราก็จะเลี้ยงตัวอ่อนถึงระยะนี้คือ day 5-6 แล้วก็จะนำไปฝังตัวในโพรงมดลูก ไม่นิยมเลี้ยงต่อแล้วเพราะตัวอ่อนก็ต้องการสร้างอาหารมากขึ้น หรือเลี้ยงต่อก็อาจจะแสดงว่าโตช้าและผลสำเร็จในการตั้งครรภ์ก็อาจจะไม่สูงนัก

ปัจจุบันเราเลี้ยงตัวอ่อนได้ดีนะครับ การเลี้ยงตัวอ่อนได้ 5-6 วันถือเป็นเรื่องปกติ ด้วยความรู้ อุปกรณ์ น้ำยาที่มีในปัจจุบันก็ทำให้ก็ไม่เป็นปัญหา ถ้าเรามีตัวอ่อนจำนวนมากก็จะเลี้ยงมาถึงระยะนี้เลย ถือเป็นคัดกรองตัวอ่อนแล้วเลือกใช้ เปรียบเทียบง่าย ๆ เหมือนกับการวิ่งมาราธอน คนที่เข้าเส้นชัยอาจจะไม่เยอะในเกณฑ์ที่กำหนด ปล่อยไป 100 คนอาจจะมีคนเข้าเส้นชัยในเวลาที่กำหนดเพียง 20 คนก็ได้ ดังนั้นตัวอ่อนที่เติบโตมาถึงระยะนี้ก็แสดงให้เห็นว่าแข็งแรงในระดับหนึ่ง เราก็จะมีตัวอ่อนที่แข็งแรงมาเลือกใช้ ถ้าเราได้ตัวอ่อนระยะบลาสโตซิสต์มา 5 ตัว เราก็จะมาแบ่งเกรดอีกครั้งว่าตัวไหนเกรดดี โดยดูจากจำนวนเซลล์ ขนาด การเรียงตัว ตำหนิต่าง ๆ ผ่านกล้องจุลทรรศน์ นักวิทยาศาสตร์จะคัดกรองออกมาอีกชั้นหนึ่ง

สำหรับข้อดีของตัวอ่อนระยะบลาสโตซิสต์ได้แก่

1. คัดกรองตัวอ่อนคุณภาพดีที่มีออกมาใส่กลับเข้าสู่โพรงมดลูก :เมื่อตัวอ่อนเติบโตมาถึงระยะบลาสโตซิสต์ซึ่งถือเป็นการคัดกรองระดับหนึ่ง จากตัวอ่อนที่มีเรายังแบ่งเกรดจากลักษณะที่พบผ่านกล้องจุลทรรศน์ และคัดเลือกตัวอ่อนที่คุณภาพดีที่สุดที่มีเพื่อย้ายกลับเข้าสู่โพรงมดลูก ซึ่งหากใส่ถูกตัวก็จะลดระยะเวลาของการรอการตั้งครรภ์ลงได้ รวมถึงตัวอ่อนที่คุณภาพดีก็จะช่วยลดอัตราการแท้งอีกด้วย จึงส่งผลความสำเร็จกับการตั้งครรภ์ โอกาสมีลูกเพิ่มสูงขึ้น

2. สามารถตรวจโครโมโซมของตัวอ่อนเพื่อเช็กความผิดปกติได้ :เราสามารถดึงเซลล์รกของตัวอ่อนระยะบลาสโตซิสต์เพื่อมาตรวจโครโมโซม 23 คู่ด้วยผลที่แม่นยำถึง 99 % เพื่อตรวจดาวน์ซินโดรม ในกลุ่มแม่อายุเกิน 35 ปี แม่ที่แท้งบ่อย รวมถึงสามารถตรวจคัดกรองโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม เช่น ธารัสซีเมียชนิดรุนแรง โดยใช้เทคนิคการตรวจต่าง ๆ เพิ่มเติม อันนี้ก็จะช่วยให้มั่นใจมากขึ้นว่าตัวอ่อนมีคุณภาพและไม่มีความผิดปกติแฝงอยู่ ที่สำคัญการตรวจโครโมโซมในระยะนี้ไม่ผลกับการตั้งครรภ์ เนื่องจากการดึงเซลล์จากรกไม่ส่งผลกับตัวอ่อน ต่างจากการตรวจตัวอ่อน Day 3 ที่มีตัวอ่อนเพียง 6-8 เซลล์เมื่อไปดึงเซลล์ออกมาก็อาจส่งผลกับตัวอ่อนและการตั้งครรภ์ได้

สำหรับข้อเสียของการเลี้ยงตัวอ่อนระยะบลาสโตซิสต์อาจจะมีได้ หากมีไข่น้อย แล้วได้ตัวอ่อนไม่มาก การเลี้ยงตัวอ่อนนานไปจนถึงวันที่ 5-6 อาจไม่มีตัวอ่อนเหลือให้ย้ายกลับสู่โพรงมดลูก เนื่องจากตัวอ่อนตายหมดหรือคุณภาพไม่ดี

เพราะฉะนั้นถ้าจะเลี้ยงตัวอ่อนยาว ๆ อาจจะต้องมาพิจารณาดูด้วยว่าเลี้ยงเพราะอะไร มีจำนวนไข่ จำนวนตัวอ่อนมากพอหรือไม่ เสี่ยงต่อโรคพันธุกรรม เช่น อายุของแม่เกิน 35 ปีหรือไม่ หรือต้องการตรวจโครโมโซมเพิ่มเติม ฯลฯ รายละเอียดเหล่านี้ต้องให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญพิจารณาอีกครั้งตามความเหมาะสม เนื่องจากแต่ละรายอาจมีเงื่อนไขที่ต่างกันนั่นเองครับ

 

น.พ.พูนเกียรติ ปัญญามิตร

สูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมีบุตรยาก ไพร์ม เฟอร์ทิลิตี้ คลินิก

 

รู้จักบริการตรวจความผิดปกติของโครโมโซม (PGD / NGS)


www.primefertilitycenter.com/services-th/pgd-ngs/

Reference: Prime Fertility Center Co., Ltd.

ICSI | ทำอิ๊กซี่ ที่ไหนดี

Related Posts