การเลี้ยงตัวอ่อนเพื่อทำเด็กหลอดแก้วมีกี่ระยะ

การเพาะเลี้ยงตัวอ่อนในการทำเด็กหลอดแก้ว

ในที่นี้จะหมายถึงการเลี้ยงตัวอ่อนหลังจากที่ได้ผสมไข่กับสเปิร์มหรือสุจิแล้วซึ่งจะมีอยู่ 3 ระยะคือ

ระยะที่ 1 ระยะไซโกต (Zygote) คือระยะที่ไข่และสเปิร์มผสมกันแล้ว 0-24 ชั่วโมง สังเกตได้จากที่เราเห็น 2 Pronuclei เป็นวงกลมสองวงมาจากพ่อและแม่อย่างละ 1 เซลล์ หลังจากที่สเปิร์มผสมกับไข่ไปแล้วประมาณ 16-18 ชั่วโมง

ระยะที่ 2 ระยะคลีเวจ (Cleavage) เป็นระยะที่ตัวอ่อนเกิดการแบ่งตัว ระยะนี้จะเป็นระยะหลังไข่กับสเปิร์มผสมกันแล้ว 24 – 72 ชั่วโมง คือตัวอ่อนจะแบ่งตัวแบบทวีคูณจาก 1 เซลล์เป็น 2 เซลล์ เป็น 4 เซลล์ 6 เซลล์ 8 เซลล์ จนกระทั่งเซลล์มีจำนวนมากขึ้นไปเรื่อย ๆ ซึ่งจะเห็นได้ผ่านกล้องว่ามีการแบ่งตัวจนมีจำนวนมากขึ้น และเกิดการรวมตัวกัน ยึดเกาะกัน หรือที่เรียกว่า Compacted Morula ซึ่ง Morula ที่ดีควรประกอบด้วยเซลล์ 16-32 เซลล์รวมตัวอัดแน่นเป็นก้อนเดียว

ระยะที่ 3 ระยะบลาสโตซิสท์ (Blastocyst) เป็นระยะที่มีตัวอ่อนเจริญเติบโตอยู่ 5-6 วันหลังจากที่ทำอิ๊กซี่ จะเป็นตัวอ่อนที่เหมาะกับการฝังตัว มีการแบ่งตัวมาจนมีจำนวนประมาณ 80-120 เซลล์ ซึ่งตัวอ่อนระยะบลาสโตซิสท์นี้จะประกอบด้วยเซลล์อยู่ 2 ชนิดคือ

• Inner Cell Mass เป็นเซลล์ที่จะเจริญเติบโตเป็นตัวอ่อนและไปฝังตัวที่มดลูก

• Trophectoderm เป็นเซลล์ที่จะเจริญเติบโตเป็นรกไปเกาะที่ผนังมดลูก

สำหรับการเลือกใช้ตัวอ่อนว่าควรจะใช้ในระยะใดนั้น

ตามปกติแล้วส่วนใหญ่การย้ายตัวอ่อนกลับเข้าสู่โพรงมดลูกของผู้มีบุตรยากจะทำอยู่ 2 ระยะ คือ ระยะคลีเวจ (Cleavage) และ ระยะบลาสโตซิสท์ (Blastocyst) โดยทั้งสองระยะนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าอันไหนจะสำเร็จมากกว่ากัน ซึ่งในปัจจุบันนี้ก็ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนออกมา

แต่ด้วยความที่ระยะบลาสโตซิสท์จะมีข้ออธิบายตามลักษณะทางกายภาพ รูปร่างลักษณะดูแล้วมีความเหมาะสมในการฝังตัวมากกว่า อีกทั้งระยะคลีเวจจะเป็นช่วงที่ตัวอ่อนอยู่ในท่อนำไข่ จึงอาจจะยังไม่พร้อมในการฝังตัว ต้องใช้เวลาพัฒนาให้เป็นระยะบลาสโตซิสท์ก่อนจึงจะพร้อมสำหรับการฝังตัวที่โพรงมดลูก นอกจากนั้นระยะคลีเวจอาจมีโอกาสหยุดการเจริญเติบโตก่อนการฝังตัวได้ด้วย ดังนั้นจึงค่อนข้างนิยมย้ายตัวอ่อนระยะบลาสโตซิสท์กลับเข้าสู่โพรงมดลูกมากกว่า และที่สำคัญการที่เราเลี้ยงตัวอ่อนมาถึงระยะบลาสโตซิสท์ก็เป็นเหมือนการคัดเลือกตัวอ่อนตามธรรมชาติ เพื่อที่เราจะได้เลือกตัวอ่อนที่แข็งแรงสามารถรอดชีวิตอยู่กลับเข้าสู่โพรงมดลูกเพื่อให้เติบโตเป็นทารกต่อไปนั่นเอง

แต่ในกรณีที่เลือกตัวอ่อนระยะคลีเวจเพื่อย้ายเข้าสู่โพรงมดลูก อาจจะมาจากที่คนไข้มีข้อจำกัดเรื่องการเลี้ยงตัวอ่อนนอกร่างกาย หรือตัวอ่อนมีโอกาสพัฒนาไปถึงระยะบลาสโตซิสท์ได้น้อย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจึงพิจารณาใส่ตัวอ่อนกลับในระยะนี้ เนื่องจากเป็นผลดีกว่าที่รอไปถึงระยะต่อไปที่ตัวอ่อนมีโอกาสหยุดเจริญเติบโตได้ ซึ่งตรงนี้นักเพาะเลี้ยงตัวอ่อนก็ต้องดูด้วยว่าตัวอ่อนนั้นเติบโตดีหรือไม่ คุณภาพเป็นอย่างไร

การดูแลตัวอ่อนนั้นนักเพาะเลี้ยงตัวอ่อนจะดูแลอย่างใกล้ชิด หลังจาก ( Day 0 ) วันที่มีการยิงสเปิร์มเข้าไปผสมกับไข่ที่คัดเลือกไว้ด้วยวิธีอิ๊กซี่ก็มีการเช็กการเติบโตต่าง ๆ ดังนี้

Day 1 : ระยะไซโกต ภายใน 16-20 ชั่วโมงจะมีการตรวจดูว่าตัวอ่อนมี pronuclei ไหม ถ้ามีแสดงว่าไข่กับอสุจิปฏิสนธิกันเรียบร้อย

Day 3 : ระยะคลีเวจ หลังจาก 24 ชั่วโมงเป็นต้นไปจนถึง 4 วัน จะตรวจดูว่าตัวอ่อนมีการแบ่งเซลล์ดีไหม โดยปกติควรจะมี 8 เซลล์ขึ้นไป ในช่วงนี้หากพบว่าตัวอ่อนไม่ค่อยเติบโต นักเพาะเลี้ยงตัวอ่อนประจำคลินิกมีลูกยากจะมีการเจาะเปลือกตัวอ่อน (Assisted Hatching – AH) เพื่อช่วยให้ตัวอ่อนรับสารอาหารจากน้ำยาที่เลี้ยงได้เต็มที่มากขึ้น และเป็นกระบวนการที่ทำให้เปลือกบางลงเพื่อให้ตัวอ่อนฟักตัวออกมาได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยให้ง่ายต่อการดึงเซลล์เพียงเล็กน้อยของตัวอ่อนเพื่อนำไปตรวจวิเคราะห์ทางพันธุศาสตร์อีกด้วย

Day 5-6 : ระยะบลาสโตซิสท์ ช่วงประมาณ 120 ชั่วโมงหลังผสม จะตรวจดูว่าตัวอ่อนว่าแข็งแรงดีไหม และจะมีการคัดเกรดของตัวอ่อน จากนั้นจึงคัดเลือกตัวอ่อนที่แข็งแรงสมบูรณ์มากที่สุดเพื่อย้ายกลับเข้าสู่โพรงมดลูกต่อไป

การเพาะเลี้ยงตัวอ่อนเป็นงานละเอียดอ่อนที่ต้องอาศัยความชำนาญและประสบการณ์ของนักเพาะเลี้ยงตัวอ่อนและคลินิกรักษาผู้มีบุตรยาก ในการดูแลตัวอ่อนด้วยวิธีการและเทคนิคอย่างไรเพื่อให้ตัวอ่อนเติบโตและพร้อมสำหรับย้ายกลับเข้าสู่โพรงมดลูกในช่วงที่เหมาะสมที่สุด ซึ่งรายละเอียดต่าง ๆ ต้องขึ้นอยู่กับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาผู้มีบุตรยากด้วย ดังนั้นปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้จึงล้วนส่งผลต่อความสำเร็จในการรักษาทั้งสิ้น

 

รู้จักบริการแช่แข็งตัวอ่อน

—–

สนใจติดต่อ  :  คลินิกรักษามีลูกยาก Prime Fertility Center
สอบถามการรักษามีลูกยาก  :  ได้ที่นี่

ติดตามข่าวความรู้เรื่องรักษามีบุตรยาก ได้ที่  :  fb.me/primefertilitycenter/
ดูวีดีโอคลิปรีวิวจากผู้ใช้บริการ  :  ได้ที่นี่
ติดต่อเรา : Tel : 02-029-1418–9, 062-648-6688

ที่ตั้งของ Prime Fertility Center  :  คลิกดู google map

ที่อยู่ 1177 อาคารเพิร์ล แบงก์ค็อก ชั้นที่ 22 ถ.พหลโยธิน ตำบล/แขวง พญาไท กรุงเทพมหานคร, ประเทศไทย 10400

Reference: Prime Fertility Center Co., Ltd.
https://www.primefertilitycenter.com/qa-นักเพาะเลี้ยงตัวอ่อน

Related Posts

23

พ.ย.
ข่าวสาร สาระน่ารู้

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับอสุจิ ตัววิ่งเร็วเป็นเพศชาย ตัววิ่งช้าเป็นเพศหญิงจริงหรือ?

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับอสุจิ ตัววิ่งเร็วเป็นเพศชาย ตัววิ่งช้าเป็นเพศหญิงจริงหรือ? เชื่อว่าห[…]