Q&A กับหมอพูนเกียรติ – รอมาหลายปียังไม่ท้องสอง ถือว่ามีลูกยากไหม ?

หลายๆ คนที่รอลูกคนที่สองมานานแล้ว ปล่อยแล้วก็ยังไม่มาเสียที แบบนี้อาจเข้าข่าย ภาวะบุตรยากทุติยภูมิ หรือ Secondary Infertility คือมีปัญหามีลูกยากหลังจากที่เคยมีลูกมาแล้ว เพราะฉะนั้นต้องมาหาสาเหตุก่อน เพื่อจะได้แก้ปัญหาได้ถูกจุด

ซึ่งเมื่อมาปรึกษาหมอก่อนอื่นก็จะมีการสอบถามเรื่องข้อมูลทั่วไป เช่น ระยะเวลาที่ปล่อยให้ท้อง ความถี่ห่างของการมีเพศสัมพันธ์ รวมถึงการให้นมแม่ด้วย เพราะช่วงที่ให้นมแม่กับลูกคนแรกนาน 1-2 ปี แม่ก็ไม่มีประจำเดือน ไข่ไม่ตกหรือตกช้าลงได้ ก็จะทำให้มีลูกคนที่สองยากขึ้น

นอกจากนั้นบางคนให้ลูกดูดนมเล่นๆ แต่ไข่ไม่ตกก็มี เพราะทำให้เกิดการหลั่งฮอร์โมนบางอย่างในตัวคุณแม่ก็ทำให้ไข่ไม่ตกได้เหมือนกัน อันนี้ก็อาจเป็นสาเหตุได้เหมือนกัน

เมื่อสอบถามรายละเอียดเบื้องต้นแล้ว ถ้าหยุดให้นมแม่นานแล้ว ประจำเดือนมาปกติ แต่ยังไม่ตั้งท้องลูกคนที่สองสักที คราวนี้ก็ต้องมาหาสาเหตุของการมีลูกยากต่อไป ซึ่งสาเหตุหลักๆ ก็จะมีดังนี้

อายุที่มากขึ้น : การปล่อยระยะเวลากว่าจะมีลูกคนที่สองนานเกินไป เช่น ตอนมีลูกคนแรกอายุ 30 ปีกว่า คนที่สองอายุเกิน 35 ปี อันนี้ก็ส่งผลต่อคุณภาพไข่ สุขภาพของแม่เองก็อาจแย่ลง ส่วนในผู้ชายเชื้ออสุจิก็อาจจะลดปริมาณและคุณภาพลงตามวัยหรือสภาพร่างกายได้เช่นกัน

สุขภาพ : มีโรคอื่นๆ แทรกซ้อนหรือไม่ เช่น ไทรอยด์ เบาหวาน ความดัน ฯลฯ

น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น : น้ำหนักเพิ่มขึ้นหลังจากมีลูกคนแรกก็อาจส่งผลให้ไข่ไม่ตกในผู้หญิง และคุณภาพเชื่ออสุจิลดลงในผู้ชาย

ความเครียด ไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป : ความรับผิดชอบต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้น เหนื่อยจากงานและสิ่งที่ต้องรับผิดชอบ ส่งผลกับจำนวนในการมีเพศสัมพันธ์ อารมณ์ต่าง ๆ รวมถึงความปกติของไข่และอสุจิได้ด้วย

สิ่งเหล่านี้ก็ต้องมาปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมีบุตรยากและหาสาเหตุเพื่อแก้ปัญหาต่อไป ซึ่งก็จะคล้ายกับการรักษาผู้มีปัญหามีบุตรยากที่ไม่เคยมีลูกมาก่อน

เพราะฉะนั้นถึงมีลูกมาแล้วก็ไม่ได้ยืนยันว่าจะไม่เกิดปัญหามีภาวะมีบุตรยากในลูกคนต่อไป หากเคยตั้งครรภ์ แล้วหลังจากที่ปล่อยให้มีลูกอย่างน้อย 1 ปีแต่ยังไม่ตั้งครรภ์ ก็ควรมาปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาสาเหตุและรักษาครับ

 

รู้จักบริการให้คำปรึกษาปัญหาด้านสูติ-นรีเวช และด้านภาวะมีบุตรยาก

Reference: Prime Fertility Center Co., Ltd.
https://www.primefertilitycenter.com/qa-กับหมอพูนเกียรติ-2

 

Related Posts

02

พ.ย.
ข่าวสาร สาระน่ารู้

ย้ายตัวอ่อนทำเด็กหลอดแก้ว เด็กที่เกิดมายังมีโอกาสเป็นดาวน์ซินโดรมหรือไม่?

ย้ายตัวอ่อนทำเด็กหลอดแก้ว เด็กที่เกิดมายังมีโอกาสเป็นดาวน์ซินโดรมหรือไม่? ในกระบวนการของกา[…]