ข้อควรปฏิบัติก่อนและหลังย้ายตัวอ่อน ช่วยเพิ่มอัตราการทำเด็กหลอดแก้วให้สำเร็จ

ข้อควรปฏิบัติก่อนและหลังย้ายตัวอ่อน ช่วยเพิ่มอัตราการทำเด็กหลอดแก้วให้สำเร็จ

 

ข้อควรปฏิบัติก่อนและหลังย้ายตัวอ่อน ช่วยเพิ่มอัตราการทำเด็กหลอดแก้วให้สำเร็จ!

Meta Title : ข้อควรปฏิบัติก่อนและหลังย้ายตัวอ่อน ช่วยเพิ่มอัตราการทำเด็กหลอดแก้วให้สำเร็จ
Meta Description : มีแพลนจะทำเด็กหลอดแก้วต้องรู้! การย้ายตัวอ่อนมีกี่ประเภท ข้อควรปฏิบัติก่อนและหลังย้ายตัวอ่อนทำอย่างไรบ้าง? มีผลข้างเคียงไหม? ตามมาอ่านได้เลยที่นี่

——————————————————————————————————————————————————————————–

ภาวะมีบุตรยากเป็นปัญหาที่คู่รักหลาย ๆ คู่อาจกำลังเผชิญอยู่ ซึ่งปัญหานี้เกิดได้จากหลายสาเหตุ มาได้ทั้งจากฝ่ายชายและฝ่ายหญิง แต่ในปัจจุบันเทคโนโลยีทางการแพทย์ได้ก้าวหน้าไปมาก โดยเฉพาะการทำเด็กหลอดแก้ว ซึ่งเป็นวิธีที่ช่วยทำให้คู่รักที่มีบุตรยากสามารถมีโอกาสตั้งครรภ์ได้มากขึ้น

ขั้นตอนหนึ่งที่สำคัญในการทำเด็กหลอดแก้วคือการย้ายตัวอ่อน ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ละเอียดอ่อนและต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้เข้ารับบริการเป็นอย่างมาก เพื่อให้การย้ายตัวอ่อนประสบความสำเร็จตามที่ต้องการ โดยมีข้อควรปฏิบัติต่าง ๆ ทั้งก่อนและหลังการย้ายตัวอ่อนที่ผู้เข้ารับบริการควรทราบและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด 

HDmall.co.th ร่วมกับ Prime Fertility Center จึงได้รวบรวมข้อมูลที่ควรรู้เกี่ยวกับการย้ายตัวอ่อน ตั้งแต่ประเภทการย้ายตัวอ่อน ข้อควรปฏิบัติก่อนและหลังย้ายตัวอ่อน และผลข้างเคียงจากการย้ายตัวอ่อนที่อาจตามมา ซึ่งจะช่วยเพิ่มอัตราการมีลูกให้คู่รักที่วางแผนทำเด็กหลอดแก้วได้มากขึ้น

การย้ายตัวอ่อนคืออะไร?

การย้ายตัวอ่อน คือ กระบวนการนำตัวอ่อนที่ผ่านการปฏิสนธิภายนอกร่างกายกลับเข้าสู่โพรงมดลูกของฝ่ายหญิง เพื่อให้เกิดการฝังตัวและเจริญเติบโตไปเป็นทารก

การย้ายตัวอ่อนนั้นเป็นขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการทำเด็กหลอดแก้วที่มีความสำคัญต่อการประสบความสำเร็จในการตั้งครรภ์เป็นอย่างมาก โดยตัวอ่อนจะถูกย้ายด้วยการสอดสายปลอดเชื้อขนาดเล็กผ่านปากมดลูกเข้าไปยังตำแหน่งที่เหมาะสมในมดลูก

โดยหัวใจหลักของการย้ายตัวอ่อน คือ การวางตัวอ่อนในโพรงมดลูกอย่างถูกต้องเพื่อให้สามารถฝังตัวลงในเยื่อบุโพรงมดลูกและเจริญเติบโตเป็นการตั้งครรภ์ที่สมบูรณ์ได้

การย้ายตัวอ่อนมีกี่ประเภท

การทำเด็กหลอดแก้ว จะมีการย้ายตัวอ่อน 2 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่ การย้ายตัวอ่อนรอบสดและการย้ายตัวอ่อนรอบแช่แข็ง ซึ่งมีรายละเอียดต่างกันดังนี้

  • การย้ายตัวอ่อนรอบสด  (Fresh ET) 

การย้ายตัวอ่อนรอบสด เป็นขั้นตอนการย้ายตัวอ่อนที่ทำหลังจากเก็บไข่มาปฏิสนธินอกร่างกายกับอสุจิแล้ว โดยจะเพาะเลี้ยงตัวอ่อนไว้ 3-5 วัน ก่อนนำตัวอ่อนที่มีความแข็งแรงและเจริญเติบโตได้ดี ฉีดเข้ากลับสู่โพรงมดลูกของฝ่ายหญิง ซึ่งกระบวนการในการย้ายตัวอ่อนรอบสดมีดังนี้

  1. การกระตุ้นรังไข่ แพทย์จะกระตุ้นไข่ของผู้หญิงโดยใช้ยาฉีดเพื่อให้มีการผลิตไข่เพิ่มขึ้นหลายใบ
  2. การเก็บไข่ เมื่อไข่เจริญเต็มที่แล้ว แพทย์จะทำการเก็บไข่โดยใช้เข็มดูดผ่านทางช่องคลอดที่ทำผ่านอัลตราซาวด์
  3. การปฏิสนธิ ไข่ที่เก็บได้จะถูกนำไปปฏิสนธิกับอสุจิในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ 
  4. การเพาะเลี้ยงตัวอ่อน ตัวอ่อนที่ได้จากการปฏิสนธิจะถูกเพาะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์เป็นเวลา 3-5 วัน
  5. การย้ายตัวอ่อน เมื่อตัวอ่อนมีคุณภาพดี แพทย์จะทำการย้ายตัวอ่อนเข้าสู่โพรงมดลูกของฝ่ายหญิงโดยใช้สายปลอดเชื้อขนาดเล็กสอดผ่านปากมดลูกเข้าไปในโพรงมดลูก

ข้อดีของการย้ายตัวอ่อนรอบสด

  • จบกระบวนการได้เร็วขึ้น
  • ประหยัดค่าใช้จ่ายในการแช่แข็งตัวอ่อน
  • ประหยัดค่าใช้จ่ายในการละลายตัวอ่อน

ข้อควรระวังของการย้ายตัวอ่อนรอบสด

  • อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจากการกระตุ้นรังไข่ เช่น ภาวะรังไข่หลายใบ (OHSS)
  • โดยทั่วไปแล้ว การย้ายตัวอ่อนรอบสดจะเหมาะสำหรับผู้ที่มีสุขภาพดีและไม่มีภาวะที่อาจทำให้การตั้งครรภ์มีความเสี่ยง

  • การย้ายตัวอ่อนรอบแช่แข็ง (Frozen-thawed ET)

การย้ายตัวอ่อนรอบแช่แข็ง เป็นกระบวนการการย้ายตัวอ่อนที่ได้รับการแช่แข็งผ่านกระบวนการละลาย (THAWING) ก่อนนำเข้าสู่โพรงมดลูกของฝ่ายหญิง โดยกระบวนการในการย้ายตัวอ่อนรอบแช่แข็งมีดังนี้

  1. การกระตุ้นรังไข่และเก็บไข่ ขั้นตอนนี้เหมือนกับการย้ายตัวอ่อนรอบสด โดยแพทย์จะกระตุ้นไข่ของผู้หญิงเพื่อให้มีการผลิตไข่เพิ่มขึ้นหลายใบ จากนั้นจึงทำการเก็บไข่
  2. การปฏิสนธิและการเพาะเลี้ยงตัวอ่อน ไข่ที่เก็บได้จะถูกนำไปปฏิสนธิกับอสุจิในห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ โดยตัวอ่อนที่ได้จากการปฏิสนธิจะถูกเพาะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์เป็นเวลา 3-5 วัน
  3. การแช่แข็งตัวอ่อน ตัวอ่อนที่มีคุณภาพดีที่สุดจะถูกแช่แข็งเพื่อใช้ในภายหลัง ในตอนที่เยื่อบุโพรงมดลูกมีความเหมาะสม
  4. การเตรียมเยื่อบุโพรงมดลูก ก่อนการย้ายตัวอ่อนรอบแช่แข็ง แพทย์จะเตรียมเยื่อบุโพรงมดลูกของผู้หญิงให้พร้อมสำหรับการฝังตัวของตัวอ่อนด้วยการให้ยาเตรียมโพรงมดลูก
  5. การละลายและย้ายตัวอ่อน เมื่อเยื่อบุโพรงมดลูกพร้อมแล้ว ตัวอ่อนที่แช่แข็งจะถูกละลายและย้ายเข้าสู่โพรงมดลูกโดยการใช้สายปลอดเชื้อขนาดเล็กสอดผ่านปากมดลูก

ข้อดีของการย้ายตัวอ่อนรอบแช่แข็ง

  • การย้ายตัวอ่อนรอบแช่แข็งมีอัตราความสำเร็จในการตั้งครรภ์สูงว่ากว่าการย้ายตัวอ่อนรอบสด 
  • ช่วยให้ฝ่ายหญิงมีเวลาเตรียมร่างกายสำหรับการตั้งครรภ์มากขึ้น
  • ลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องกับการกระตุ้นรังไข่
  • ช่วยให้สามารถเก็บรักษาตัวอ่อนไว้ใช้ในอนาคตได้
  • เหมาะสำหรับคู่รักที่วางแผนตรวจโครโมโซมของตัวอ่อน เพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ และลดโอกาสแท้งบุตร
  • การย้ายตัวอ่อนรอบแช่แข็งในสตรีที่มีอายุมากกว่า 35 ปีจะให้ผลดีกว่าการย้ายตัวอ่อนในรอบสด

ข้อควรระวังของการย้ายตัวอ่อนรอบแช่แข็ง

  • ค่าใช้จ่ายสูงกว่าการย้ายตัวอ่อนรอบสด
  • อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจากการกระตุ้นรังไข่ เช่น ภาวะรังไข่หลายใบ (OHSS)

การเตรียมตัวก่อนย้ายตัวอ่อน

การย้ายตัวอ่อนเป็นขั้นตอนสำคัญในกระบวนการทำเด็กหลอดแก้ว ที่จะช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ให้สูงขึ้น เพราะฉะนั้นการเตรียมตัวอย่างเหมาะสมก่อนย้ายตัวอ่อนจึงมีความสำคัญอย่างมาก ซึ่งการเตรียมตัวก่อนย้ายตัวอ่อนมีแนวทางปฏิบัติดังนี้

  • ปรึกษาแพทย์เพื่อเตรียมความพร้อม ด้วยการอัลตราซาวด์ทางช่องคลอดและตรวจวิเคราะห์ผลเลือด
  • ควรมาพบแพทย์ในวันที่ 2-3 ของการมีประจำเดือน เพื่อประเมินโพรงมดลูกและเริ่มรับประทานยาฮอร์โมน โดยแพทย์จะสั่งจ่ายยาฮอร์โมนเพื่อเตรียมเยื่อบุโพรงมดลูกให้พร้อมสำหรับการฝังตัวของตัวอ่อน
  • แพทย์จะนัดติดตามอาการประมาณ 10 วัน หลังจากรับประทานยาฮอร์โมนแล้ว กรณีที่เยื่อบุโพรงมดลูกยังไม่เหมาะสมต่อการย้ายตัวอ่อนเข้าสู่โพรงมดลูก แพทย์จะให้ปรับขนาดยาฮอร์โมนและนัดมาติดตามอาการอีกครั้ง ส่วนกรณีที่เยื่อบุโพรงมดลูกเหมาะสมแก่การย้ายตัวอ่อนแล้ว แพทย์จะมีการสั่งยา โดยมีทั้งยารับประทานและยาสอดทางช่องคลอดเพื่อเตรียมเยื่อบุโพรงมดลูกก่อนถึงวันย้ายตัวอ่อน 5 วัน หลังจากนั้นแพทย์จะนัดวันและเวลาในการย้ายตัวอ่อนอีกครั้ง
  • จัดการกับความเครียด ความเครียดเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลต่อความสำเร็จในการย้ายตัวอ่อน ควรจัดการกับความเครียดด้วยเทคนิคต่าง ๆ เช่น การทำสมาธิ ออกกำลังกาย หรือทำในสิ่งที่รัก
  • อาหาร การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการเตรียมตัวก่อนย้ายตัวอ่อน ควรรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยผัก ผลไม้ และธัญพืชเต็มเมล็ด
  • ออกกำลังกาย การออกกำลังกายเป็นประจำสามารถช่วยปรับปรุงการไหลเวียนโลหิตและลดความเครียดได้ อย่างไรก็ตามควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่รุนแรง
  • การนอนหลับให้เพียงพอ การนอนหลับให้เพียงพอมีความสำคัญต่อการเตรียมตัวก่อนย้ายตัวอ่อนเป็นอย่างมาก ควรนอนหลับให้ครบ 8 ชั่วโมงต่อคืน
  • หลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์และคาเฟอีน ควรหลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์และคาเฟอีนก่อนการย้ายตัวอ่อน เนื่องจากจะส่งผลต่อการฝังตัวของตัวอ่อนได้

ขั้นตอนการย้ายตัวอ่อน

  1. ดื่มน้ำและกลั้นปัสสาวะ เพื่อทำให้กระเพาะปัสสาวะขยายฟูขึ้นก่อนถึงเวลาย้ายตัวอ่อน
  2. แพทย์จะอัลตราซาวด์บริเวณหน้าท้องเพื่อหาตำแหน่งที่เหมาะสมในการฝังตัวอ่อน
  3. นักเพาะเลี้ยงตัวอ่อนจะนำตัวอ่อนให้แพทย์เพื่อย้ายตัวอ่อนลงไปยังตำแหน่งที่แพทย์ตั้งไว้
  4. หลังใส่ตัวอ่อนแพทย์จะสอดยาเข้าทางช่องคลอด
  5. ให้ผู้เข้ารับบริการนอนพักหลังใส่ตัวอ่อนประมาน 15-60 นาที
  6. แพทย์สั่งยาพยุงการตั้งครรภ์ก่อนกลับบ้าน และนัดเจาะเลือดตรวจการตั้งครรภ์ในวันที่ 10 หลังจากการย้ายตัวอ่อน

การดูแลตัวเองหลังย้ายตัวอ่อน

หลังจากย้ายตัวอ่อนแล้ว การดูแลตัวเองอย่างเหมาะสมก็ช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์และลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนได้ โดยเราควรดูแลตัวเองดังต่อไปนี้

  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน และดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากสามารถลดโอกาสในการตั้งครรภ์และเพิ่มความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนได้
  • หลีกเลี่ยงการอาบน้ำร้อนจัด เพราะความร้อนสูงอาจส่งผลต่อการฝังตัวของตัวอ่อน
  • ติดตามอาการผิดปกติ ควรสังเกตอาการผิดปกติ เช่น ปวดท้องรุนแรง ตกเลือด หรือมีไข้ หากมีอาการเหล่านี้ให้ติดต่อแพทย์ทันที
  • งดการมีเพศสัมพันธ์ หลังจากย้ายตัวอ่อนแล้ว ควรงดมีเพศสัมพันธ์เป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและการกระตุ้นมดลูกให้เกิดการบีบตัว ซึ่งอาจส่งผลให้ตัวอ่อนหลุดออกมาได้
  • ดื่มน้ำอุ่น การดื่มน้ำอุ่นจะช่วยให้ระบบไหลเวียนโลหิตทำงานได้ดีขึ้น และช่วยให้มดลูกได้รับเลือดรวมถึงสารอาหารที่เพียงพอต่อการฝังตัวของตัวอ่อน นอกจากนี้ยังช่วยลดอาการปวดท้องและอาการท้องอืดได้อีกด้วย
  • หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหนัก ในช่วงหลังการย้ายตัวอ่อน ควรงดการออกกำลังกายหนัก ๆ เช่น การวิ่ง การกระโดด หรือการยกของหนัก เพราะอาจทำให้เกิดการบีบตัวของมดลูกและส่งผลให้ตัวอ่อนหลุดออกมาได้ 
  • พักผ่อนให้เพียงพอ การพักผ่อนให้เพียงพอจะช่วยลดความเครียดและความกังวล ซึ่งส่งผลต่อการฝังตัวของตัวอ่อน ควรนอนหลับให้ได้อย่างน้อย 8 ชั่วโมงต่อวัน และหลีกเลี่ยงการนอนดึกหรือนอนหลับไม่เป็นเวลา
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์จะช่วยให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่จำเป็นต่อการฝังตัวของตัวอ่อน ควรรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยโปรตีน ผัก ผลไม้ และธัญพืช หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารดิบหรือสุก ๆ ดิบ ๆ รวมถึงอาหารที่มีไขมันสูง
  • รับประทานยาและสอดยาให้ตรงเวลา หลังจากการย้ายตัวอ่อน แพทย์อาจสั่งจ่ายยาฮอร์โมนเพื่อช่วยในการฝังตัวของตัวอ่อน คุณแม่จะต้องรับประทานยาและสอดยาให้ตรงเวลาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ซึ่งจะช่วยให้ระดับฮอร์โมนในร่างกายคงที่และช่วยให้มดลูกเตรียมพร้อมสำหรับการฝังตัวของตัวอ่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากรับประทานยาหรือสอดยาไม่ตรงเวลา อาจส่งผลต่อการฝังตัวของตัวอ่อนและลดโอกาสในการตั้งครรภ์ได้
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ การปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดจะช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์และลดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้

ผลข้างเคียงจากการย้ายตัวอ่อน

การย้ายตัวอ่อนเป็นขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการทำเด็กหลอดแก้ว ซึ่งเป็นการนำตัวอ่อนที่ปฏิสนธิแล้วไปฝังในโพรงมดลูกของผู้หญิง 

โดยทั่วไปการย้ายตัวอ่อนจะเป็นขั้นตอนที่มีความปลอดภัย แต่ก็อาจมีผลข้างเคียงเกิดขึ้นได้ ซึ่งผลข้างเคียงที่พบได้ทั่วไปมีดังนี้

  • ปวดท้องน้อย อาการปวดท้องน้อยเป็นผลข้างเคียงที่พบบ่อยที่สุดของการย้ายตัวอ่อน อาการปวดมักเกิดขึ้นภายใน 24-48 ชั่วโมงหลังการย้ายตัวอ่อน และอาจคงอยู่ได้นานถึงหนึ่งสัปดาห์
  • เลือดออกทางช่องคลอด เลือดออกทางช่องคลอดเป็นผลข้างเคียงอีกประการหนึ่งที่พบบ่อยหลังการย้ายตัวอ่อน เลือดที่ออกมามักจะเป็นสีชมพูหรือสีน้ำตาล และอาจเกิดขึ้นได้ภายใน 24-48 ชั่วโมงหลังการย้ายตัวอ่อน
  • อาการท้องอืด เป็นอีกหนึ่งผลข้างเคียงที่พบบ่อยหลังการย้ายตัวอ่อน โดยอาการท้องอืดมักเกิดจากฮอร์โมนที่ใช้ในการกระตุ้นการตกไข่
  • อาการคลื่นไส้ มักเกิดจากฮอร์โมนที่ใช้ในการกระตุ้นการตกไข่
  • อาการปวดหัว เป็นผลข้างเคียงที่พบบ่อย มักเกิดจากความเครียดและความวิตกกังวลเกี่ยวกับการย้ายตัวอ่อน

ทำเด็กหลอดแก้วที่ไหนดี?

สำหรับคู่รักที่กำลังวางแผนทำเด็กหลอดแก้ว แนะนำให้เลือกสถานที่ในการทำเด็กหลอดแก้วที่ได้มาตรฐาน แพทย์มีประสบการณ์ ใช้เครื่องมือคุณภาพสูง รวมถึงมีการให้คำปรึกษาเป็นรายบุคคล เพราะมีผลต่อโอกาสในการตั้งครรภ์อย่างมาก

คู่รักที่ไม่สามารถมีลูกด้วยวิธีทางธรรมชาติได้แล้วอยากหันมาพึ่งการทำเด็กหลอดแก้ว แนะนำให้มาทำเด็กหลอดแก้วที่ Prime Fertility Center เพราะที่นี่เป็นคลินิกเฉพาะทางที่ให้การรักษาด้านภาวะมีบุตรยากที่ได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าทั่วประเทศ เลือกใช้เทคโนโลยีรักษาภาวะมีบุตรยากที่มีความทันสมัย ผ่านการรับรองคุณภาพในมาตรฐานระดับสากลอย่าง JCI (Joint Commission International) ของประเทศสหรัฐอเมริกา และผ่านการรับรองมาตรฐาน ISO 15189 และ ISO 15190 ซึ่งเป็นมาตรฐานด้านการรับรองความสามารถและความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ในระดับสากล 

นอกจากนี้เรายังมีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ นักเพาะเลี้ยงตัวอ่อน และทีมงานมากประสบการณ์ในการดูแลและให้คำปรึกษาแบบครบวงจร มั่นใจได้เลยว่าการรักษาจะตอบโจทย์และเห็นผลดังที่คาดหวังไว้

ที่มา:

  • American Pregnancy Association, Embryo Transfer (https://americanpregnancy.org/getting-pregnant/infertility/embryo-transfer/), 1 March 2024
  • Emory University School of Medicine, Embryo Transfer (https://med.emory.edu/departments/gynecology-obstetrics/patient-care/patient-education/embryo-transfer/index.html), 1 March 2024
  • Bumrungrad Hospital, ใครบ้างที่ควรจะต้องตรวจโครโมโซมของตัวอ่อน (https://www.bumrungrad.com/th/treatments/embryo-transfer), 1 มีนาคม 2567
  • HD Mall, การปฏิบัติตัวหลังย้ายตัวอ่อน ครบทุกข้อควรระวัง (https://hdmall.co.th/c/hdinsight-precautions-after-embryo-transfer-by-ibaby-fertility-genetic-center), 1 มีนาคม 2567

 

สนใจเข้ารับการปรึกษาภาวะมีบุตรยาก
ติดต่อ Prime Fertility Center
โทร : 062-648-6688 / 062-648-8866 / 02-029-1418–9
Line : http://line.me/ti/p/~@primefertility
Facebook : https://www.facebook.com/primefertilitycenter
E-mail : [email protected]

เวลาทำการ
วันจันทร์ – วันพุธ , วันศุกร์และวันเสาร์
เวลา 08.00 – 16:00 น.
หยุดวันพฤหัสบดี วันอาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์

 

Related Posts

07

ก.ย.
ข่าวสาร สาระน่ารู้

เตรียมมีลูกควรทานโปรตีนจากสัตว์ หรือโปรตีนจากพืชมากกว่ากัน?

เตรียมมีลูกควรทานโปรตีนจากสัตว์ หรือโปรตีนจากพืชมากกว่ากัน? “โปรตีน“ มีความสำคัญกับคนทุกเพ […]